บทความนี้จะพิจารณากระบวนการที่ประเทศสิงคโปร์ดำเนินการเมื่อรัฐบาลประกาศในปี พ.ศ. 2547 พิจารณาให้การเปิดคาสิโนเป็นเรื่องถูกกฎหมาย รวมถึงทัศนคติของสาธารณชนต่อประเด็นดังกล่าว และวิธีที่รัฐบาลใช้ในการอธิบายแนวทางการจัดการความเสี่ยงจากปัญหาการพนัน บทความยังกล่าวถึงมาตรการป้องกันที่รัฐบาลได้นำมาใช้เพื่อลดผลกระทบทางสังคมและแก้ไขปัญหาการพนันตลอดจนการประเมินถึงความเพียงพอของมาตรการดังกล่าว และหากยังไม่เพียงพอ มีการเพิ่มเติมมาตรการใดบ้างในระยะต่อมา นอกจากนี้ บทความยังพิจารณาถึงเหตุผลที่สิงคโปร์สามารถเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นให้กับประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศไทย ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้คาสิโนถูกกฎหมายท่ามกลางความกังวลและเสียงคัดค้านจากสาธารณชน โดยชี้ให้เห็นว่าความวิตกกังวลของสาธารณชนไทยสามารถคลี่คลายได้ผ่านการอ้างอิงถึงแนวทางและความสำเร็จของประเทศสิงคโปร์ในการจัดตั้งรีสอร์ตแบบครบวงจร (Integrated Resorts) ระดับโลก เช่น Marina Bay Sands และ Resorts World Sentosa
บทนำ
เส้นทางของประเทศสิงคโปร์จากสังคมที่ต่อต้านการพนันไปสู่การเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกด้านคาสิโน ถือเป็นกรณีศึกษาด้านนวัตกรรมเชิงนโยบาย การมีส่วนร่วมของประชาชน และความเข้มงวดด้านกฎระเบียบโดยแท้ ประสบการณ์ของสิงคโปร์ในการทำให้การพนันคาสิโนถูกกฎหมายถือเป็นแบบอย่างที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อประเทศต่างๆ เช่น ประเทศไทยซึ่งเตรียมการในการจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจรที่รวมคาสิโน และยังคงเผชิญกับความวิตกกังวลและการถกเถียงทางศีลธรรมจากสาธารณชน บทความนี้นำเสนอข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์เกี่ยวกับกระบวนการของสิงคโปร์ รวมถึงการพัฒนากรอบมาตรฐานการพนันอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Gambling Framework) ซึ่งประกอบด้วยประมวลหลักปฏิบัติว่าด้วยการพนันอย่างรับผิดชอบ และเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการยกเว้นปฏิบัติ พร้อมทั้งการประเมินผลมาตรการเหล่านี้โดยอ้างอิงจากการศึกษาวิจัยเชิงประยุกต์หลังการเปิดดำเนินการคาสิโนโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย บทวิเคราะห์นี้สรุปด้วยบทเรียนสำหรับประเทศไทย และเสนอแนวทางเชิงนโยบายเพื่อคลี่คลายความกังวลของสาธารณชน
- ประวัติศาสตร์การพนันคาสิโนในประเทศสิงคโปร์
เมื่อเซอร์โธมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) ผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ เดินทางมาถึงในเดือนมกราคม พ.ศ. 2362 เขาพบว่าประชากรในท้องถิ่นมีพฤติกรรมการพนันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเดิมพันการชนไก่หรือการเล่นไพ่ การพนันที่ผิดกฎหมายแพร่หลายอย่างกว้างขวาง แรฟเฟิลส์ซึ่งต่อต้านการพนันอย่างแข็งขันพยายามยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวในสิงคโปร์ หลังจากที่เขาลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพันธมิตร (Treaty of Friendship and Alliance) กับเต็งกง อับดุล ราห์มาน (Temenggong Abdul Rahman) และสุลต่านฮุสเซน ชาห์แห่งยะโฮร์ (Sultan Hussein Shah of Johor) เพื่อให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษสามารถตั้งท่าเรือการค้าในสิงคโปร์ได้ เขาได้มอบหมายให้พันโทวิลเลียม ฟาร์เควอร์ (William Farquhar) ซึ่งเป็นผู้ดูแลคนแรกของสิงคโปร์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามสนธิสัญญา ให้รับผิดชอบในการบริหารพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่จำกัดในการพัฒนาท่าเรือการค้าจากเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ที่มีประชากรราว 200 คน และเพื่อสร้างเงินทุนที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ ฟาร์เควอร์จึงฝ่าฝืนคำสั่งของแรฟเฟิลส์ และออกระบบการจัดเก็บภาษีที่ให้สัมปทานผูกขาดในการเปิดบ่อนการพนันในสิงคโปร์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนใหม่แห่งนี้ เมื่อแรฟเฟิลส์กลับมาสิงคโปร์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2365 เขารู้สึกตกใจอย่างมากกับการขัดคำสั่งของเขาในการบริหารพื้นที่ เขาจึงปลดฟาร์เควอร์ออกจากตำแหน่ง และออกข้อบังคับยกเลิกการพนันอย่างเป็นทางการ โดยร่างระเบียบด้วยตนเอง นั่นคือ “Regulation IV of 1823” ซึ่งห้ามบ่อนการพนันและพยายามขจัดอบายมุขในสิงคโปร์ ต่อมา แรฟเฟิลส์ได้แต่งตั้งจอห์น ครอฟเวิร์ด (John Crawfurd) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ดูแลคนที่สองแทนฟาร์เควอร์ อย่างไรก็ตาม ภายในเวลาเพียงสามเดือน ครอฟเวิร์ดยกเลิก “Regulation IV of 1823” และนำระบบบ่อนการพนันที่ถูกกฎหมายกลับมาอีกครั้ง ภายใต้ระบบการควบคุมอย่างเข้มงวดและการเก็บภาษีที่ให้ผลกำไรสูงแก่รัฐบาล ครอฟเวิร์ดเป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์และเน้นความเป็นจริง เขามุ่งเน้นในการเพิ่มรายได้ของรัฐและส่งเสริมการค้าเสรี เขาเห็นว่าการพนันในหมู่ชาวจีนและชาวมาเลย์เป็นสิ่งที่ฝังรากลึก และไม่อาจกำจัดได้ทั้งหมด โดยมองว่าการพนันก็เหมือนกับการดื่มไวน์หรือสุรา ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง ความเห็นของเขาคือ การออกกฎหมายที่ชาญฉลาดคือ การควบคุมสิ่งที่ไม่อาจป้องกันได้ “วิธีที่แน่นอนที่สุดในการจำกัดและควบคุมอบายมุขนี้ คือการนำมาอยู่ภายใต้ระบบการออกใบอนุญาตที่เข้มงวด… เพื่อทำให้การกระทำดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับผู้ที่ตั้งใจจะลุ่มหลงในสิ่งนั้น โดยไม่ผลักให้พวกเขาต้องหันไปพึ่งสถานที่ลับผิดกฎหมาย”
ช่วงที่ครอฟเวิร์ดดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2366–2369 เป็นช่วงที่สิงคโปร์เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งด้านประชากร การค้า และรายได้ อย่างไรก็ตาม การพนันที่ถูกกฎหมายได้นำมาซึ่งปัญหาทางสังคม เช่น การเสพติด การฆ่าตัวตาย และอาชญากรรม ในสิงคโปร์ ในปี พ.ศ. 2370 หนึ่งปีหลังจากครอฟเวิร์ดพ้นจากตำแหน่ง รัฐบาลตัดสินใจว่าการพนันเป็นกิจกรรมที่ผิดศีลธรรม และในปี พ.ศ. 2372 ได้สั่งปิดบ่อนการพนันที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดในสิงคโปร์ ซึ่งส่งผลกระทบ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรกกิจกรรมการพนันถูกผลักเข้าสู่ใต้ดินและการพนันผิดกฎหมายกลายเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป ประการที่สองเกิดการทุจริตในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากที่รับสินบนเพื่อหลับหูหลับตาให้บ่อนการพนันผิดกฎหมายดำเนินการได้ ประการที่สามบ่อนการพนันผิดกฎหมายมีจำนวนเพิ่มขึ้นเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ทั่วถึง บ่อนเหล่านี้มักดำเนินการโดยกลุ่มอิทธิพลลับซึ่งยากแก่การควบคุมของตำรวจ
เมื่อสิงคโปร์กลายเป็นรัฐปกครองตนเองในปี พ.ศ. 2502 รัฐบาลได้ปิดบ่อนการพนันผิดกฎหมายอีกครั้ง และออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมการพนัน ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยบ่อนการพนัน พ.ศ. 2504 (Common Gaming Houses Act) ที่มุ่งปราบปรามบ่อนการพนันสาธารณะ ลอตเตอรี และการพนันสาธารณะ โดยมีข้อยกเว้นบางประการ เช่น ลอตเตอรี่ที่ดำเนินการโดย Singapore Pools และการพนันม้าแข่งกับ Singapore Turf Club ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการยกเว้น อย่างไรก็ตาม คาสิโนยังคงถูกห้ามโดยเด็ดขาดเนื่องจากรัฐบาลกังวลถึงปัญหาการเสพติด ผลกระทบต่อกลุ่มรายได้น้อย และการทำลายคุณค่าทางครอบครัว ในปี พ.ศ. 2508 และ 2510 มีข้อเสนอให้จัดตั้งคาสิโนนอกฝั่งบนเกาะ Pulau Sejahat และเกาะ Sentosa แต่รัฐบาลปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าคาสิโนจะบ่อนทำลายศีลธรรมและก่อให้เกิดผลเสียทางสังคม ในปี พ.ศ. 2513 สแตนลีย์ โฮ (Stanley Ho)นักธุรกิจชาวฮ่องกงที่มีชื่อเสียงในวงการคาสิโน เสนอแนวคิดในการสร้างคาสิโนในสิงคโปร์ แต่ก็ถูกปฏิเสธโดยนายกรัฐมนตรีลีกวนยู (Lee Kuan Yew) ในขณะนั้น ด้วยคำพูดอันโด่งดังว่า “ไม่มีทาง ตราบใดที่ผมยังมีชีวิตอยู่”
ประเด็นเรื่องการอนุญาตให้มีคาสิโนในสิงคโปร์ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2528 ในช่วงที่ประเทศเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้จะมีศักยภาพในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจซึ่งประเทศต้องการอย่างเร่งด่วน รัฐบาลก็ยังคงตัดสินใจไม่ให้คาสิโนถูกกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าอันตรายทางสังคมมีน้ำหนักมากกว่าผลประโยชน์ทางการเงินใด ๆ ที่อาจได้รับ ขณะนั้น นายกรัฐมนตรีโก๊ะ จ๊กตง (Goh Chok Tong) ได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “จะไม่มีคาสิโน ตราบใดที่ผมยังเป็นนายกรัฐมนตรี”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ซึ่งเสนอให้เปิดคาสิโนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ก็ปฏิเสธแนวคิดนี้อีก โดยให้เหตุผลว่า “อันตรายทางสังคมนั้นมีมากกว่ารายได้ที่อาจเกิดขึ้นจากคาสิโน”
- การอภิปรายเรื่องการทำให้คาสิโนถูกกฎหมายในปีพ.ศ. 2547: กระบวนการและทัศนคติของสาธารณชน
สามปีต่อมา ลี เซียน ลุง ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สามของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เพียงสิบวันหลังจากนั้น ในสุนทรพจน์วันชาติเพื่อเปิดวิสัยทัศน์ของรัฐบาลชุดใหม่ เขาได้กล่าวถึงประเด็นที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่แก่ประชาชนทั่วประเทศ: รัฐบาลกำลังพิจารณาให้คาสิโนถูกกฎหมายในฐานะส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งรีสอร์ตแบบครบวงจร จำนวน 2 แห่ง เหตุผลหลักเป็นเชิงเศรษฐกิจ สิงคโปร์กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศอื่นในภูมิภาค ขณะที่รีสอร์ตแบบครบวงจรจะสามารถสร้างงานได้ราว 35,000 ตำแหน่ง ดึงดูดการลงทุน และกระตุ้นภาคสันทนาการของประเทศ ในช่วงสามเดือนหลังจากคำประกาศอันสำคัญนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมได้จัดคณะศึกษาดูงานในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board) ก็ได้รับมอบหมายให้ทดสอบความสนใจของภาคธุรกิจที่อาจร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ทำการประเมินความเห็นของสังคมไปพร้อมกัน
การประกาศของนายกรัฐมนตรีจุดประกายให้เกิดกระแสถกเถียงอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ กระบวนการปรึกษาสาธารณะซึ่งกินเวลานานถึงหกเดือนจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีการเชิญชวนให้หน่วยงานศาสนา องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น โดยรัฐบาลได้รับจดหมายและอีเมลจากประชาชนมากกว่า 700 ฉบับ ผลสำรวจความคิดเห็นในระดับชาติระบุว่า ประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งรับรู้ถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากคาสิโน แต่ส่วนใหญ่แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการกัดกร่อนคุณค่าทางสังคม การเสพติดการพนัน ความเสี่ยงของอาชญากรรม และการล่มสลายของครอบครัว ซึ่งทั้งหมดอาจนำไปสู่การทำลายสังคมสิงคโปร์ในระยะยาว
- การอธิบายและการจัดการความเสี่ยงจากปัญหาการพนัน
ในเดือนมีนาคมและเมษายน พ.ศ. 2548 มีการอภิปรายอย่างเข้มข้นในรัฐสภา พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) ได้ยกเว้นข้อบังคับพรรคเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายอย่างอิสระตามมโนธรรมของตนเอง เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนทางศีลธรรม แม้ว่าจะมีสมาชิกรัฐสภาบางคนเสนอให้จัดทำประชามติระดับชาติ แต่นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่านโยบายของรัฐไม่สามารถผลักภาระไปให้ประชาชนตัดสินได้ และชี้ว่าแท้จริงแล้ว สิงคโปร์ก็มีรูปแบบของการพนันที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว
ประเด็นหลักที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในระหว่างการอภิปรายคือปัญหาการพนันซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและครอบครัวอย่างรุนแรง ในระหว่างการอภิปรายในรัฐสภา ดร. ตัน ซี วี (Tan Sze Wee) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการแต่งตั้ง ได้นำเสนอผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการพนันกับความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงผลกระทบด้านจิตใจ อารมณ์ และการเงินที่ตกอยู่กับสมาชิกในครอบครัว งานวิจัยหลายชิ้นยังแสดงให้เห็นว่า ในสังคมเอเชีย ครอบครัวขยายมักมีส่วนร่วมในการแบกรับภาระจากสมาชิกที่มีปัญหาการพนัน ซึ่งยิ่งเพิ่มผลกระทบทางลบเนื่องจากค่านิยมเรื่องความรับผิดชอบร่วมกัน นอกเหนือจากการทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้ว ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้มีปัญหาการพนันจะหันไปก่ออาชญากรรมเพื่อหาเงินมาพนัน กรณีที่โด่งดังที่สุดคือในปี พ.ศ. 2547 นายเจีย เต็ก เล้ง (Chia Teck Leng) อดีตผู้จัดการการเงินของบริษัท Asia Pacific Breweries ซึ่งถูกจำคุกมากกว่า 42 ปีจากการยักยอกเงินกว่า 110 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อใช้ในการเล่นพนันในคาสิโนที่มาเก๊าและลาสเวกัส นอกจากนี้รายงานจากกระทรวงพัฒนาชุมชน เยาวชน และกีฬา (Ministry of Community Development, Youth and Sports) ปัจจุบันคือกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชน (Ministry of Culture, Community and Youth) ซึ่งเผยแพร่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 ยังระบุว่า ราว 2.1% ของชาวสิงคโปร์มีแนวโน้มจะกลายเป็นนักพนันที่มีปัญหา ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่ามาเก๊าและฮ่องกง
นักการเมืองคนอื่น ๆ ก็ได้แสดงความกังวลเช่นกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาชุมชน เยาวชน และกีฬา ดร. วิเวียน บาลากริชนัน (Dr. Vivian Balakrishnan) กล่าวว่า “การพนันทุกรูปแบบมีศักยภาพที่จะทำลายชีวิตของผู้ที่เสพติด นี่คืออันตรายที่ชัดเจนและปรากฏอยู่ตรงหน้า… ชาวสิงคโปร์ที่ถูกทำลายโดยการพนันเพียงแค่หนึ่งคนก็ถือว่ามากเกินไปแล้ว” ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายลิม บุน เฮง ได้เล่าถึงสิ่งที่เขาได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กว่า การพนันคืออบายมุขที่นำไปสู่การแตกแยกของครอบครัว สมาชิกสภาคนอื่น ๆ เตือนว่าคาสิโนอาจกลายเป็นแหล่งชุมนุมของกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น การปล่อยเงินกู้นอกระบบ อาชญากรรมจัดตั้ง การค้าประเวณี และการฟอกเงิน โดยยกตัวอย่างจากเขตอำนาจศาลอื่นที่พบปัญหาลักษณะนี้ พร้อมแสดงความกังวลว่า ภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ในฐานะประเทศที่ปลอดภัยอาจเสื่อมเสีย
รัฐบาลจึงเลือกใช้จุดยืนแบบปฏิบัตินิยม โดยเห็นว่า ไม่สามารถห้ามการพนันได้โดยสิ้นเชิง เพราะหากห้ามโดยเด็ดขาด อุตสาหกรรมการพนันก็จะหลบเข้าสู่ใต้ดิน ซึ่งจะทำให้รัฐขาดอำนาจควบคุมและเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการผิดกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายคอว์ บูน วาน (Khaw Boon Wan) ซึ่งเคยคัดค้านการเปิดคาสิโนในตอนแรก ได้กล่าวอย่างมีนัยว่า: “สิ่งที่เปลี่ยนใจผมในท้ายที่สุด คือการตระหนักว่า แม้เราจะปฏิเสธ ในสถานที่อื่นๆอย่างเช่น ภูเก็ต กรุงเทพฯ หรือแม้แต่ยะโฮร์ก็มีโอกาสที่จะเปิดคาสิโนรีสอร์ตระดับโลกของตัวเอง… ถ้าเราไม่อาจหลีกเลี่ยงคาสิโนและผลกระทบของมันได้ ก็ควรอย่างยิ่งที่เราควรมีอิทธิพลในการควบคุมผู้ประกอบการเหล่านั้น” อดีตนายกรัฐมนตรีโก๊ะ จ๊ก ตง ยังกล่าวว่า: “ผมไม่เห็นด้วยกับการพนัน แต่ก็ไม่ใช่คนที่ต่อต้านการพนันโดยสิ้นเชิง เราไม่สามารถขจัดอบายมุขได้โดยสิ้นเชิง แต่เราสามารถ ‘บริหารจัดการ’ มันได้”
ในแถลงการณ์ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ได้สรุปถึงกระบวนการพิจารณาอย่างรอบด้าน การปรึกษาสาธารณะ และการชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับต้นทุนทางสังคม โดยกล่าวว่า:
“ในที่สุด เราได้ตัดสินใจในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเมื่อวันที่ 9 เมษายน ซึ่งเป็นบ่ายวันเสาร์ เกือบทุกคนเข้าร่วมประชุม และต่างก็ได้แสดงความคิดเห็นของตนเอง ทั้งในฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ก็ได้ส่งความเห็นมาให้พิจารณา แม้จะมีการหารือกันมาหลายครั้งแล้ว แต่รัฐมนตรีก็ยังคงมีความเห็นที่ไม่เป็นเอกฉันท์ คำถามแรกคือ เราควรมีรีสอร์ตแบบครบวงจรหรือไม่ คำตอบคือ ควรมี เมื่อได้ข้อยุติในเรื่องนี้แล้ว คำถามต่อไปคือ ควรมี IRs หนึ่งแห่งหรือสองแห่ง ซึ่งเราได้ตัดสินใจให้มีสองแห่ง เพราะโครงการที่ Bayfront และ Sentosa สามารถเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกันได้ การมีสองแห่งยังช่วยส่งเสริมการแข่งขันและสร้างขนาดที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ และเรามีความเชื่อว่าโครงการทั้งสองแห่งจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า โดยไม่เพิ่มภาระทางสังคมในระดับที่เท่าเทียมกัน การตัดสินใจเช่นนี้เป็นเรื่องของดุลยพินิจ ไม่ใช่การคำนวณทางคณิตศาสตร์ เราเห็นแนวโน้มของโลก และรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องขยับตัว ไม่ว่าเราจะตัดสินใจไปในทิศทางใด ย่อมมีความเสี่ยง หากเราดำเนินการต่อไป IRs อาจไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจเกิดผลกระทบทางสังคมที่รุนแรงกว่าที่เราคาดไว้ หากเราไม่ดำเนินการก็เสี่ยงอย่างมากที่จะล้าหลังเมืองอื่น ๆ หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติร่วมกันว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเดินหน้าโครงการ IRs และในฐานะนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบสูงสุดต่อการตัดสินใจครั้งนี้”
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีมติให้อนุญาตการพนันคาสิโนในขอบเขตจำกัดภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด พร้อมมาตรการป้องกันที่เข้มแข็งสำหรับกลุ่มเปราะบาง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องต่อผู้ประกอบการที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลยืนยันความมุ่งมั่นในการจัดทำกรอบการส่งเสริมการพนันอย่างรับผิดชอบในลักษณะองค์รวมและหลายชั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับความรับผิดชอบทางสังคม สาระสำคัญของนโยบายมีความชัดเจน การพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องไม่เกิดขึ้นโดยแลกกับความเสียหายต่อโครงสร้างทางสังคมของสิงคโปร์
- กรอบแนวทางการส่งเสริมการพนันอย่างรับผิดชอบ: มาตรการป้องกันก่อนเปิดดำเนินการ
รัฐบาลได้ดำเนินการจัดทำกรอบแนวทางการดำเนินงานระดับชาติขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการพนัน ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานตามกฎหมายแห่งใหม่ คือ สำนักงานกำกับดูแลคาสิโน (Casino Regulatory Authority) เพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลคาสิโนโดยเฉพาะ การตรากฎหมายใหม่ในรูปของ พระราชบัญญัติควบคุมคาสิโน (Casino Control Act) และการจัดตั้งสภาระดับชาติที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการพนัน รวมถึงการให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาอาการติดการพนันจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์
- กรอบแนวทางการดำเนินงานระดับชาติเพื่อรับมือกับปัญหาการพนัน
กรอบแนวทางการดำเนินงานระดับชาติเพื่อรับมือกับปัญหาการพนันประกอบด้วยองค์ประกอบหลายประการ ดังนี้:
- คณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนัน (National Council on Problem Gambling – NCPG): จัดตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 โดยมีบทบาทหลายประการ ได้แก่ ประการแรก ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อกังวลทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดจากการพนัน ประการที่สองดำเนินมาตรการห้ามเข้าคาสิโนและจำกัดจำนวนครั้งในการเข้าคาสิโนตามพระราชบัญญัติควบคุมคาสิโน (Casino Control Act) และ ประการที่สามให้คำแนะนำ สนับสนุน และดำเนินโครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพในด้านการให้ความรู้แก่สาธารณชน การวิจัย การป้องกัน และการให้บริการรักษาผู้มีปัญหาการพนัน โดยคณะกรรมการประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เช่น จิตเวช จิตวิทยา งานสังคมสงเคราะห์ กฎหมาย และศาสนา
- การให้ความรู้แก่สาธารณชน: จัดแคมเปญระดับชาติ การออกบูธ และการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการพนันและบริการช่วยเหลือที่มีอยู่
- การสนับสนุนด้านชุมชนและการบำบัดอาการติดการพนัน: บริการให้คำปรึกษาฟรีที่ศูนย์บริการครอบครัว (Family Service Centres – FSCs), การรักษาแบบที่ศูนย์จัดการการเสพติดแห่งชาติที่รัฐสนับสนุน (National Addictions Management Service – NAMS), โครงการจัดการการเสพติดในชุมชน (Community Addictions Management Programme – CAMP) ที่ศูนย์ชุมชนเฉพาะทางและสถาบันสุขภาพจิต รวมถึงกลุ่มช่วยเหลือตนเองของผู้ที่ติดการพนันที่ไม่ประสงค์จะออกนาม
- การวิจัย: ดำเนินการสำรวจเป็นระยะเกี่ยวกับพฤติกรรมการพนันและอัตราการเกิดปัญหาการพนัน โดยข้อมูลที่ได้จะนำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย
- ประมวลหลักปฏิบัติว่าด้วยการพนันอย่างรับผิดชอบ (Responsible Gambling Code of Practice – RGCOP)
ประมวลหลักปฏิบัตินี้เริ่มนำมาใช้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยเป็นแนวปฏิบัติโดยสมัครใจที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนันร่วมกับผู้ประกอบการด้านการพนันรายใหญ่ ได้แก่ Singapore Pools, Singapore Turf Club และชมรมสังคมที่มีห้องแจ็กพอต วัตถุประสงค์ของประมวลหลักปฏิบัตินี้ ได้แก่:
- ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแนวคิดการพนันอย่างรับผิดชอบ
- ทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์การพนันจะถูกให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบและสอดคล้องกับบรรทัดฐานของสังคม
- ส่งเสริมให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูลครบถ้วน
- ลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อบุคคลและสังคม
- ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงบริการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ข้อกำหนดตามประมวลหลักปฏิบัติที่ผู้ประกอบการด้านการพนันต้องปฏิบัติ:
- การให้ข้อมูล: ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยง อัตราการชนะ กฎของเกม และหมายเลขสายด่วนช่วยเหลือไว้อย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ที่มีการพนัน รวมถึงบนเว็บไซต์
- การฝึกอบรมพนักงาน: พนักงานแนวหน้าและผู้บริหารต้องได้รับการฝึกอบรมให้สามารถระบุและส่งต่อผู้ที่มีปัญหาการพนันไปยังหน่วยงานให้ความช่วยเหลือได้
- การโฆษณาและการส่งเสริมการขาย: ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการโฆษณาอย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้มีการส่งเสริมหรือจูงใจให้เล่นการพนันโดยเด็ดขาด โฆษณาจะต้องไม่มุ่งเป้าไปที่ผู้เยาว์หรือกลุ่มเปราะบาง และต้องไม่มีข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด กิจกรรมโฆษณาและส่งเสริมการขายทั้งหมดต้องได้รับการอนุมัติล่วงหน้าจากกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมครอบครัว
- ข้อกำหนดด้านการห้ามเข้า: ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีทางเลือกในการข้อห้ามเข้าโดยสมัครใจจากการเข้าร่วมเล่นพนัน และมีขั้นตอนในการส่งต่อผู้มีปัญหาการพนันไปยังบริการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
- การรายงานตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน: ต้องจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการฝึกอบรมพนักงาน การส่งต่อผู้มีปัญหาการพนัน และคำร้องขอยกเว้นจากการเล่นพนัน
นอกจากนี้ คู่มือว่าด้วยการพนันอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Gambling Resource Manual) ของคณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนันยังได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับผู้ประกอบการด้านการพนันที่ได้รับอนุญาต เช่น ผู้ประกอบการลอตเตอรี่ ผู้รับแทงพนันกีฬา และผู้ประกอบการเครื่องสล็อตตามชมรมต่าง ๆ คู่มือนี้ถือเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการในการนำหลักปฏิบัติการพนันอย่างรับผิดชอบไปใช้จริง โดยภายในคู่มือประกอบด้วย แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรม สาระสำคัญของกลยุทธ์การพนันอย่างรับผิดชอบ และข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งช่วยเหลือในชุมชนที่สามารถเข้าถึงได้
- มาตรการป้องกันเฉพาะสำหรับคาสิโน
ร่างพระราชบัญญัติควบคุมคาสิโนฉบับใหม่ ซึ่งมีการอ้างอิงจากกฎหมายการพนันของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ได้รับการผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 โดยกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้มีการออกใบอนุญาตคาสิโนได้ไม่เกิน 2 แห่ง สำหรับระยะเริ่มต้น 10 ปี ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานกำกับดูแลคาสิโนเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการตามพระราชบัญญัติควบคุมคาสิโน มาตรการป้องกันต่างๆ ที่ได้ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมคาสิโนมีดังนี้:
- ค่าธรรมเนียมเข้าใช้บริการ: กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับชาวสิงคโปร์และผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร เป็นจำนวน 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ 24 ชั่วโมง หรือ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี เพื่อป้องกันพฤติกรรมการพนันแบบไม่ไตร่ตรองหรือเล่นเพื่อความบันเทิงแบบฉาบฉวย
- ห้ามบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์เข้าใช้บริการ: บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปีจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่พื้นที่คาสิโน
- คำสั่งห้ามเข้า: ครอบคลุมคำขอให้มีคำสั่งห้ามเข้าโดยสมัครใจ คำขอให้มีคำสั่งห้ามเข้าโดยโดยครอบครัว และคำขอให้มีคำสั่งห้ามเข้าโดยบุคคลภายนอก (เช่น ผู้ล้มละลายและผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ) โดยคณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนันมีอำนาจออก แก้ไข หรือเพิกถอนคำสั่งห้ามเข้าดังกล่าว
- ห้ามให้เครดิตแก่พลเมืองท้องถิ่น: ห้ามไม่ให้คาสิโนให้เครดิตแก่ผู้เล่นท้องถิ่น ยกเว้นผู้มีฐานะทางการเงินสูงที่มีเงินฝากจำนวนมาก
- ห้ามใช้เครื่องเอทีเอ็มและบัตรเครดิต: ห้ามติดตั้งเครื่องถอนเงินอัตโนมัติหรือระบบโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ภายในพื้นที่คาสิโน
- ห้ามโฆษณา: ห้ามโฆษณาคาสิโนผ่านสื่อมวลชนท้องถิ่นโดยเด็ดขาด และกำหนดให้มีการควบคุมกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างเข้มงวด
- การควบคุมทางกายภาพ: ระบบการเข้าใช้บริการและระบบตรวจสอบของคาสิโนจะต้องเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลผู้ถูกห้ามเข้าและมีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
เพื่อบังคับใช้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติควบคุมคาสิโน สำนักงานตำรวจแห่งชาติสิงคโปร์ได้จัดตั้งหน่วยสอบสวนอาชญากรรมคาสิโน (Casino Crime Investigation Branch) ขึ้นโดยเฉพาะ และได้ส่งเจ้าหน้าที่จำนวน 20–30 นายไปศึกษาดูงานยังเมืองลาสเวกัส ประเทศออสเตรเลีย และมาเก๊า ซึ่งเป็นเขตอำนาจที่มีประสบการณ์สูงในการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายคาสิโน เจ้าหน้าที่ของหน่วยดังกล่าวได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านการสืบสวนอาชญากรรมในคาสิโน และมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบคดีปลอมแปลง การใช้สื่อการเงินเทียม การแทรกแซงอุปกรณ์การพนันโดยมิชอบ และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับคาสิโนอื่น ๆ
- การเปิดให้บริการของรีสอร์ตแบบครบวงจรทั้งสองแห่งในสิงคโปร์
การเปิดให้บริการของรีสอร์ตแบบครบวงจรทั้งสองแห่งในสิงคโปร์ ได้แก่ Resorts World Sentosa (RWS) และ Marina Bay Sands (MBS) ในปี พ.ศ. 2553 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ รีสอร์ตทั้งสองแห่งนี้เป็นผลลัพธ์ของการอภิปรายสาธารณะ การออกแบบนโยบาย และการวางระบบกำกับดูแลที่ดำเนินมายาวนานหลายปี RWS ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท Genting Singapore ประกอบด้วยสวนสนุก Universal Studios โรงแรมหลากหลายแห่ง และพิพิธภัณฑ์ทางทะเล เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ส่วน MBS ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท Las Vegas Sands และประกอบด้วยศูนย์การประชุม พิพิธภัณฑ์ศิลปะและวิทยาศาสตร์ และภัตตาคารระดับโลกหลายแห่ง ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553 รีสอร์ตทั้งสองแห่งนี้มิได้ถูกออกแบบให้เป็นเพียงคาสิโนเท่านั้น หากแต่เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกที่รวมเอาที่พัก ศูนย์ประชุม แหล่งช้อปปิ้ง ความบันเทิง และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวไว้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารสามหลังของ Marina Bay Sands ที่เชื่อมต่อกันด้วย SkyPark และสระว่ายน้ำไร้ขอบบนชั้นดาดฟ้า ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของเส้นขอบฟ้าของสิงคโปร์อย่างสิ้นเชิง ในเชิงสถาปัตยกรรม Marina Bay Sands เปรียบเสมือนสิ่งแทนตัวของประเทศสิงคโปร์ เช่นเดียวกับที่ทัชมาฮาลเป็นสัญลักษณ์ของอินเดีย และมหาพีระมิดแห่งกิซ่าเป็นสัญลักษณ์ของอียิปต์
- ยุคใหม่แห่งการกำกับดูแลการพนัน
ในขณะที่รีสอร์ตแบบครบวงจรเตรียมเปิดให้บริการ และเพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพนันในคาสิโน รัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อนำระบบที่รับผิดชอบการพนันมาใช้อย่างจริงจังโดยนำกรอบการกำกับดูแลที่รับผิดชอบการพนันมาใช้ วัตถุประสงค์หลักของกรอบดังกล่าว คือ เพื่อควบคุมกิจกรรมการพนันภายในคาสิโนทั้งสองแห่ง รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคาสิโน ตลอดจนเพื่อสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนัน และดำเนินมาตรการในการป้องกันและลดปัญหาการพนัน
นอกเหนือจากพระราชบัญญัติควบคุมคาสิโน ซึ่งเป็นฐานทางกฎหมายสำหรับการดำเนินงานคาสิโนและการกำกับดูแลแล้ว รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายลำดับรองเพิ่มเติมหลายฉบับ ได้แก่ กฎควบคุมคาสิโน พ.ศ. 2551 (การแก้ไขปัญหาการพนัน – คำสั่งห้ามเข้าและการจำกัดจำนวนการเข้า) ระเบียบควบคุมคาสิโน พ.ศ. 2552 (การป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนการก่อการร้าย และการจัดหาเงินทุนเพื่อการแพร่ขยายอาวุธ) ระเบียบควบคุมคาสิโน พ.ศ. 2553 (การโฆษณา) ระเบียบควบคุมคาสิโน พ.ศ. 2556 (การพนันอย่างมีความรับผิดชอบ) ซึ่งเป็นการบัญญัติหลักปฏิบัติที่รับผิดชอบการพนันหลายประการที่เคยอยู่ในลักษณะสมัครใจภายใต้ประมวลหลักปฏิบัติว่าด้วยการพนันอย่างรับผิดชอบให้เป็นข้อบังคับตามกฎหมาย ระเบียบที่รับผิดชอบการพนัน กำหนดมาตรการที่ผู้ประกอบการคาสิโนต้องปฏิบัติตาม ได้แก่ การยื่นแผนปฏิบัติการพนันอย่างมีความรับผิดชอบต่อหน่วยงานกำกับดูแลการพนันแห่งสิงคโปร์ การฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้สามารถระบุและช่วยเหลือผู้มีปัญหาการพนัน การจัดให้มีข้อมูลและช่องทางช่วยเหลือภายในพื้นที่คาสิโน การจัดทำระบบห้ามเข้าใช้บริการ ได้แก่ คำขอให้มีคำสั่งห้ามเข้าโดยสมัครใจ คำขอให้มีคำสั่งห้ามเข้าโดยครอบครัว และคำขอให้มีคำสั่งห้ามเข้าโดยบุคคลภายนอก การแสดงข้อความส่งเสริมการพนันอย่างรับผิดชอบในจุดที่เห็นได้อย่างชัดเจน
ระเบียบดังกล่าวยังควบคุมการโฆษณาอย่างเข้มงวด ห้ามการให้เครดิตแก่ผู้เล่นท้องถิ่น (ยกเว้นผู้มีฐานะทางการเงินสูง) และกำหนดให้ใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบระบุตัวตนด้วยไบโอเมตริกซ์และระบบติดตามอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อควบคุมและบังคับใช้การเก็บค่าธรรมเนียมเข้าใช้บริการและคำสั่งห้ามเข้า กรอบกำกับดูแลนี้ช่วยให้การเปิดคาสิโนในสิงคโปร์ไม่เพียงเป็นเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังถือเป็นต้นแบบแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมและนวัตกรรมด้านการกำกับดูแลในภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบัน กรอบการดำเนินงานนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นมาตรฐานสูงสุดในการจัดการปัญหาการพนันในคาสิโน
- ผลลัพธ์หลังการเปิดดำเนินการ การประเมินโดยอิงจากข้อมูลเชิงประจักษ์ และการสำรวจ
การเปิดตัวของ Marina Bay Sands และ Resorts World Sentosa ในปี พ.ศ. 2553 ส่งผลกระทบสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศสิงคโปร์ในทันที โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบ 20% ในปีหลังการเปิดรีสอร์ตครบวงจรทั้งสองแห่ง จาก 9.7 ล้านคนในปี พ.ศ. 2552 สู่จุดสูงสุดที่ 11.6 ล้านคนในปี พ.ศ. 2553 แนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงหลายปีที่ถัดมา โดยจำนวนนักท่องเที่ยวแตะระดับสูงสุดที่ 19.1 ล้านคนในปี พ.ศ. 2562 รีสอร์ตครบวงจรได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้เข้าใช้บริการแบบเสียค่าธรรมเนียมมากที่สุดในประเทศสิงคโปร์อย่างรวดเร็ว โดยเกือบครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2566 ได้เข้าเยี่ยมชมหนึ่งหรือทั้งสองรีสอร์ตนี้ นอกจากนี้ รีสอร์ตครบวงจรยังส่งผลต่อระยะเวลาการเข้าพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของมาตรการการท่องเที่ยวของประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวใช้เวลาอยู่ในประเทศนานขึ้น อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของแหล่งท่องเที่ยวและตัวเลือกด้านความความบันเทิงที่มาจากรีสอร์ตครบวงจร
รีสอร์ตครบวงจรยังส่งผลกระทบสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ในทันที โดยมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มระหว่าง 1% ถึง 2% ของผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศรายปี (Annual GDP) ของประเทศสิงคโปร์ในช่วงหลายปีหลังการเปิดดำเนินการ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2553 เพียงปีเดียว รีสอร์ตครบวงจรมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศของประเทศสิงคโปร์ประมาณ 0.3% หรือคิดเป็น 470 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และมีผลการสร้างมูลค่าเพิ่มรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 0.7% ภายในสิ้นปีนั้น โดยยังมีการรักษาสัดส่วนเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศรายปีที่อยู่ระหว่าง 1% ถึง 2% ไว้อย่างต่อเนื่องในปีถัดมา ขณะเดียวกัน รีสอร์ตครบวงจรยังสร้างรายได้ภาษีจำนวนมหาศาล โดยมีการเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3% ของรายได้ภาษีทั้งหมดที่เก็บโดยกรมสรรพากรของประเทศสิงคโปร์ในปีนั้น
การสร้างงานเป็นหนึ่งในประโยชน์ที่เด่นชัดและเกิดขึ้นทันทีจากรีสอร์ตครบวงจร รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ในเบื้องต้นว่ารีสอร์ตครบวงจรทั้งสองแห่งจะสามารถสร้างงานรวมสุทธิประมาณ 35,000 ตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงการจ้างงานโดยตรงภายในรีสอร์ต และการจ้างงานทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากผลกระทบเชิงบวกที่ตามมาจากเศรษฐกิจในวงกว้าง ภายในปี พ.ศ. 2555 รีสอร์ตครบวงจรได้มีการจ้างพนักงานโดยตรงมากกว่า 22,000 คน โดยประมาณ 70% ของพนักงานเป็นพลเมืองสิงคโปร์หรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศสิงคโปร์ ผลกระทบของการจ้างงานโดยรวมซึ่งรวมถึงตำแหน่งงานทางอ้อมในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม การค้าปลีก และการขนส่ง ถูกประเมินว่ามีจำนวนมากกว่า 40,000 ตำแหน่ง โอกาสในการจ้างงานใหม่เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สิงคโปร์มุ่งเน้นการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว และมองหาช่องทางใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างราบรื่น ในปี พ.ศ. 2553 มีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคาสิโนจำนวน 299 กรณี และ 282 กรณี ในปี พ.ศ. 2554 ขณะเดียวกัน จำนวนโรงรับจำนำในประเทศสิงคโปร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 114 แห่งในปี พ.ศ. 2551 เป็น 214 แห่งในปี พ.ศ. 2557 และมูลค่ารวมของเงินกู้ที่ปล่อยโดยอุตสาหกรรมโรงรับจำนำก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 1.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2550 เป็น 5.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2556 อ้างอิงจากนายกสมาคมโรงรับจำนำแห่งประเทศสิงคโปร์ ประมาณ 20% ของการเพิ่มขึ้นนี้มาจากนักพนันที่นำทรัพย์สินไปจำนำเพื่อหาเงินมาเล่นการพนัน ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) ได้เฝ้าติดตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ที่ปล่อยโดยโรงรับจำนำ โดยเฉพาะสัญญาณของปัญหาทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการพนัน เนื่องจากโรงรับจำนำถูกมองว่าเป็น “เครื่องกดเงินสดอัตโนมัติที่ถูกใช้งานบ่อยที่สุดของนักพนันประจำ” หลังจากที่คาสิโนเปิดทำการในปี พ.ศ. 2553
ตำรวจได้ปฏิบัติการปราบปรามผู้ปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายตลอดปี พ.ศ. 2553 ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้น การอายัดทรัพย์สินของผู้นำขบวนการที่ต้องสงสัย และการร่วมมือกับธนาคารในการระงับบัญชีต้องสงสัย นอกจากนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยผู้ให้กู้เงิน (Moneylenders’ Act) ยังได้รับการแก้ไขในปี พ.ศ. 2553 เพื่อกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น เช่น รวมถึงการจำคุกโดยไม่รอลงอาญาและการลงโทษทางร่างกายสำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงหรือการสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน รวมถึงบทลงโทษที่หนักขึ้นสำหรับผู้ที่นำเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบ การติดตั้งกล้องวงจรปิดในเขตที่อยู่อาศัยของประชาชนก็ถูกขยายขอบเขตเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการคุกคามและการทำลายทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ผิดกฎหมาย
ในปีแรกหลังจากการเปิดรีสอร์ครบวงจรของประเทศสิงคโปร์ มาตรการการห้ามเข้าใช้บริการ (Exclusion Regime) ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกรอบนโยบายระดับชาติในการแก้ไขปัญหาการพนัน ภายในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2553 มีการออกคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการโดยสมัครใจ (Self-Exclusion) และคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการของครอบครัว (Family Exclusion) จำนวน 3,816 คำสั่ง ในขณะเดียวกัน มีการออกคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการโดยบุคคลที่สาม (Third-Party Exclusion) (ซึ่งรวมถึงคำสั่งตามกฎหมาย) จำนวน 27,500 คำสั่งต่อบุคคลที่มีสถานะล้มละลาย ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล หรือเข้าร่วมโครงการสวัสดิการทางสังคม ผู้ที่มีประวัติสินเชื่อไม่ดี รวมถึงผู้ที่พักอาศัยในแฟลตเช่าของรัฐที่ค้างค่าเช่าเกินกว่า 6 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูล ณ เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2566 มีจำนวนคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการและคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการของครอบครัวรวมทั้งสิ้น 187,361 คำสั่ง ขณะที่จำนวนคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการโดยบุคคลที่สาม (รวมถึงคำสั่งตามกฎหมาย) รวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 123,976 คำสั่งห้ามเข้าใช้บริการเหล่านี้ถือเป็นรากฐานสำคัญของกรอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาการพนันอย่างมีความรับผิดชอบของประเทศสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและครอบครัวของพวกเขาจากผลกระทบของปัญหาการพนัน
ในปี พ.ศ. 2554 คณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนันได้ดำเนินการสำรวจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการเข้าร่วมการพนันและปัญหาการพนันในหมู่ประชากรสิงคโปร์ ผลสำรวจเผยให้เห็นแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในภูมิทัศน์ของการพนัน รวมถึงความพยายามในการส่งเสริมการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบในประเทศสิงคโปร์ โดยพบว่า อัตรารวมของปัญหาการพนันและการติดการพนันในหมู่ประชากรสิงคโปร์อยู่ที่ 2.6% ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 4.1% ที่รายงานในผลสำรวจปี พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนของผู้ที่ถูกจัดเป็นผู้ติดการพนัน ลดลงจาก 2.1% ในปี พ.ศ. 2548 เป็น 1.4% ในปี พ.ศ. 2554 ในขณะที่สัดส่วนของนักพนันที่มีปัญหาก็ลดลงจาก 2.0% ในปี พ.ศ. 2548 เป็น 1.2% ในปี พ.ศ. 2554 นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบแนวโน้มของการเริ่มเล่นการพนันตั้งแต่อายุน้อยขึ้นในกลุ่มประชากรสิงคโปร์ โดยกลุ่มอายุ 18-24 ปี มีอัตราการเริ่มต้นเล่นพนันครั้งแรกและการเข้าร่วมการพนันอย่างสม่ำเสมอสูงที่สุด จากข้อมูลที่ได้คณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนันจึงเพิ่มความเข้มข้นของแคมเปญให้ความรู้แก่สาธารณชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ซึ่งรวมถึงแคมเปญผ่านสื่อมวลชนด้วยข้อความที่ทรงพลังและสถานการณ์จำลองเพื่อสะท้อนอันตรายของปัญหาการพนัน โครงการให้ความรู้แก่เยาวชนและโรงเรียน กิจกรรมโรดโชว์และนิทรรศการชุมชน พร้อมบูธให้ข้อมูลและบริการให้คำปรึกษา แคมเปญที่มุ่งเน้นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมักจะร่วมมือกับองค์กรชุมชนและองค์กรด้านศาสนา และการส่งเสริมสายด่วนให้ความช่วยเหลือและบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ในรูปแบบแชทแบบไม่เปิดเผยตัวตน
ในปีเดียวกันนั้น คณะวิจัยจากคณะบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานยาง (NTU) ได้ดำเนินการศึกษานำร่องเกี่ยวกับการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบในประเทศสิงคโปร์ ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายที่ต้องเผชิญในระหว่างการแก้ไขปัญหาการพนันในคาสิโน” งานวิจัยนี้ไม่ได้จัดทำขึ้นจากหน่วยงานรัฐโดยตรง แต่ถูกจัดทำขึ้นในฐานะโครงการวิจัยทางวิชาการโดยกลุ่มนักศึกษาภายใต้การดูแลของอาจารย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ คณะวิจัยได้ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก รวมถึงสมาชิกคณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนัน อีกทั้งยังอ้างอิงกรอบนโยบายระดับชาติด้านการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบโดยกว้าง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและครอบครัว สถาบันสุขภาพจิต และศูนย์บริการครอบครัว
แรงจูงใจในการจัดทำการศึกษาครั้งนี้ เกิดจากความกังวลของสาธารณชนอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นภายหลังการเปิดรีสอร์ตแบบครบวงจรที่มีคาสิโนทั้งสองแห่งในสิงคโปร์ในปีดังกล่าว การตัดสินใจของรัฐบาลในการทำให้การพนันคาสิโนถูกกฎหมายถือเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและก่อให้เกิดข้อถกเถียงในวงกว้าง โดยเฉพาะในเรื่องความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปัญหาการพนันและผลกระทบทางสังคมที่ตามมา คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยางจึงได้ดำเนินการศึกษานี้เพื่อตรวจสอบ ความมีประสิทธิผลของกรอบการดำเนินงานระดับชาติของสิงคโปร์ในการรับมือกับปัญหาการพนัน โดยเฉพาะในบริบทของคาสิโนที่เพิ่งเปิดใหม่ และเพื่อระบุอุปสรรคในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ ได้แก่:
- เพื่อวิเคราะห์กรอบนโยบายระดับชาติในการแก้ไขปัญหาการพนัน ซึ่งครอบคลุมถึงการพิจารณานโยบายอย่างละเอียด มาตรการคุ้มครองทางสังคม และโครงสร้างการให้ความช่วยเหลือที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งขึ้น เช่น โครงการเกี่ยวกับการห้ามเข้าใช้บริการ (Exclusion programmes) การเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าใช้คาสิโน (Entry levies) ข้อจำกัดด้านการโฆษณา (Advertising restrictions) และแคมเปญให้ความรู้แก่สาธารณชน (Public education campaigns)
- เพื่อชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นในการแก้ไขปัญหาการพนัน โดยงานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปที่อุปสรรคในทางปฏิบัติที่พบในการบริหารจัดการคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการของครอบครัว การตอบรับของประชาชนต่อความพยายามในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ ความยั่งยืนของแรงงานภาคสังคมและอาสาสมัครที่ให้การช่วยเหลือนักพนันที่มีปัญหาและครอบครัวของพวกเขา
คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานยางได้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (Multi-method approach) โดยประกอบด้วย
- การสัมภาษณ์ (Interview) นักวิจัยได้สัมภาษณ์คณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนัน และผู้แทนจากกลุ่มศาสนาที่มีบทบาทในการรณรงค์ป้องกันปัญหาการพนัน
- การสวมบทบาท (Mystery Shopping) คณะวิจัยได้สวมบทบาทเป็นสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่อาจมีปัญหาการพนัน โดยมีการติดต่อสายด่วนให้ความช่วยเหลือและเดินทางไปยังศูนย์บริการครอบครัว เพื่อประเมินความสะดวกในการเข้าถึงและการตอบสนองของการให้บริการ
- การสำรวจ (Survey) แบบสำรวจออนไลน์ถูกแจกจ่ายในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นหลัก เพื่อประเมินระดับความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบ สายด่วนให้ความช่วยเหลือ และความเพียงพอของการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐตามการรับรู้ของประชาชน
- การวิจัยทุติยภูมิ (Secondary Research) การวิจัยนี้ได้พิจารณางานเขียนที่มีอยู่ รายงานของรัฐบาล และแนวทางปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศที่เกี่ยวกับการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบ
การวิจัยนำร่องของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานยางได้จัดทำการประเมินเบื้องต้นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับประสิทธิผลของมาตรการการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบของประเทศสิงคโปร์ โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
- ความตระหนักรู้ของประชาชน ความตระหนักรู้โดยทั่วไปเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการพนันอยู่ในระดับปานกลาง แต่ความรู้เกี่ยวกับบริการช่วยเหลือเฉพาะทาง (บริการบริหารจัดการผู้มีปัญหาติดการพนันแห่งชาติ และโครงการบริหารจัดการผู้มีปัญหาติดการพนันในชุมชน) ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยมีเพียง 49% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ทราบถึงสายด่วนให้การช่วยเหลือที่มีอยู่
- ประสิทธิภาพของคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการ คำสั่งห้ามเข้าใช้บริการมีความตรงไปตรงมาและถูกนำมาใช้ในวงกว้าง ส่วนคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการของครอบครัว แม้ว่าจะเป็นแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมใหม่ แต่ก็มีความซับซ้อนในการดำเนินการ เนื่องจากข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว ความขัดแย้งภายในครอบครัว และภาระการพิสูจน์ของสมาชิกครอบครัวผู้ยื่นคำร้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการดำเนินการ เนื่องจากต้องมีหลักฐานที่เพียงพอเพื่อแสดงให้เห็นว่าสมาชิกในครอบครัวที่ถูกห้ามเข้าใช้บริการนั้นมีพฤติกรรมเล่นพนันอย่างขาดความรับผิดชอบ จนส่งผลกระทบต่อความต้องการและสวัสดิภาพของครอบครัว ขั้นตอนในการร้องขอคำสั่งจำเป็นต้องมีการประเมินอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการที่ไม่เป็นธรรมและเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว ความลังเลในการเปิดเผยปัญหาภายในครอบครัวต่อสาธารณะซึ่งเป็นผลจากวัฒนธรรม อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บางคนไม่กล้าออกมาแสดงตนหรือไม่ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนในการสนับสนุนคำร้อง
- ค่าธรรมเนียมการเข้าใช้คาสิโน มีการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการจำกัดการเล่นพนันด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมรายวันจำนวน 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ เนื่องจากยังมีคนท้องถิ่นหลายพันคนที่เต็มใจจ่ายเงินจำนวนนี้เพื่อเข้าใช้บริการคาสิโน อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ยังถูกมองว่าเป็น “กลไกการเบรก” ที่มีความจำเป็นในการช่วยลดการพนันโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง
- ความยั่งยืนของบริการการให้ความช่วยเหลือ นักสังคมสงเคราะห์และสมาชิกคณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนัน ต้องเผชิญกับความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และข้อจำกัดด้านทรัพยากร ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนในระยะยาวของบุคลากรที่มีเต็มใจช่วยเหลือในภาคส่วนนี้
- การให้ความรู้แก่สาธารณชน ความพยายามในการให้ความรู้ถูกขัดขวางโดยทัศนคติด้านลบและการตีตราทางสังคม โรงเรียนหลายแห่งลังเลที่จะจัดบรรยายเกี่ยวกับปัญหาการพนัน โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะให้ความรู้ในลักษณะที่เป็นส่วนตัวและไม่เปิดเผยมากกว่า
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานยางสรุปว่า แม้ว่ามาตรการของประเทศสิงคโปร์จะครอบคลุมและเป็นแนวหน้าของโลก แต่การติดตามอย่างต่อเนื่อง การลงทุนด้านทรัพยากร และการมีส่วนร่วมของประชาชนยังคงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระยะยาว
- การพัฒนาและการปรับปรุง: ความก้าวหน้าหลังการเปิดดำเนินการ
หลังจากการเปิดคาสิโนรีสอร์ตครบวงจรของประเทศสิงคโปร์ กรอบนโยบายระดับชาติด้านการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบก็ไม่ได้หยุดนิ่ง หากแต่มีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการปรับปรุงโดยอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ผลตอบรับจากผู้มีส่วนได้เสีย และการเกิดขึ้นของความท้าทายรูปแบบใหม่ เช่น สำนักงานกำกับดูแลคาสิโน (ปัจจุบันถูกปรับโครงสร้างเป็นสำนักงานกำกับดูแลการพนัน ซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลการพนันทุกรูปแบบ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าการกำกับดูแลมีแนวทางที่เป็นระบบและสอดคล้องกัน) ได้เป็นผู้นำในการทบทวนมาตรการเดิมที่มีอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมและขยายขอบเขตของมาตรการป้องกันทางสังคมเพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มที่เกิดขึ้นและข้อกังวลของสังคม กระบวนการเข้ารับคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการถูกทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นผ่านระบบออนไลน์ (Online Interface) จากเดิมที่ใช้ระบบนัดหมายแบบตัวต่อตัว นอกจากนี้ นอกเหนือจากบุคคลที่มีสถานะล้มละลาย บุคคลที่อยู่ในโครงการช่วยเหลือทางสังคมหรือโครงการเงินอุดหนุนก็ถูกห้ามเล่นการพนันทุกรูปแบบโดยอัตโนมัติ ข้าราชการมีหน้าที่ต้องรายงานหากได้ซื้อบัตรผ่านรายปีสำหรับเข้าใช้บริการคาสิโน หรือได้เข้าไปในคาสิโนมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน คาสิโนยังถูกกำหนดให้ใช้ระบบจดจำใบหน้าและดำเนินมาตรการตรวจสอบตัวตนที่เข้มงวดที่จุดเข้า-ออก และสุดท้าย ค่าธรรมเนียมเข้าใช้คาสิโนได้ถูกพิจารณาและปรับเพิ่มขึ้นเป็น 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน หรือ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปีในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2562 จำนวนพลเมืองสิงคโปร์หรือผู้พำนักถาวรที่เข้าคาสิโนในสิงคโปร์ในปี 2023 อยู่ที่ 99,000 คน หรือคิดเป็น 3% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ โดยตัวเลขของปี พ.ศ. 2562, พ.ศ. 2563, พ.ศ. 2564 และ พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 3.4%, 2.5%, 3% และ 3.2% ตามลำดับ
การนำแนวทางที่มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้มาใช้ช่วยให้ระบบกำกับดูแลของประเทศสิงคโปร์ยังคงมีความมั่นคง ทันสมัย และสามารถปรับตัว พร้อมกับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในโครงการเกี่ยวกับการห้ามเข้าใช้บริการ ค่าธรรมเนียมเข้าใช้คาสิโน แคมเปญให้ความรู้แก่สาธารณชน และบริการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่มีปัญหาการพนัน ผลลัพธ์ที่ได้คือระบบที่ครอบคลุมและมีชั้นเชิง ซึ่งไม่เพียงแต่จัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการพนันในคาสิโนเท่านั้น แต่ยังสามารถคาดการณ์และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการพนันในประเทศสิงคโปร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในด้านการให้ความรู้แก่สาธารณชนและบริการให้ความช่วยเหลือ คณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนัน ได้ส่งเสริมโครงการให้ความรู้แก่ประชาชนหลากหลายรูปแบบ โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหลากหลายกลุ่ม มีการจัดแคมเปญผ่านสื่อในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การพนันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามสถิติที่ผ่านมา คณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนัน ยังได้ร่วมมือกับบริษัท Grab เพื่อเผยแพร่วิดีโอความรู้สั้น ๆ แก่พนักงานขับรถและพนักงานขนส่ง รวมถึงร่วมกับกองกำลังตำรวจสิงคโปร์ในการฝึกอบรมแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศให้สามารถสังเกตสัญญาณของปัญหาการพนันได้ นอกจากการให้ความรู้แล้ว คณะกรรมการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนัน ยังเริ่มทำงานร่วมกับหน่วยงานบริการสังคมอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดให้มีระบบการช่วยเหลืออย่างครอบคลุมสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาการติดการพนัน
- นโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความร่วมมือระหว่างประเทศ
รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการสำรวจและวิจัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามแนวโน้มการพนัน ระบุกลุ่มเสี่ยง และประเมินประสิทธิภาพของมาตรการแทรกแซงต่าง ๆ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยผ่านมาตรการการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานบริการสังคม นักวิชาการ และประชาชน ช่วยทำให้นโยบายเหล่านี้ยังคงมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์และตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ นอกจากนี้ ประเทศสิงคโปร์ยังคงเรียนรู้แนวทางการกำกับดูแลเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาการพนันจากประเทศที่อนุญาตให้มีคาสิโนอย่างถูกกฎหมาย เช่น รัฐลาสเวกัส ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร บาฮามาส และมาเก๊า เช่นเดียวกับที่ประเทศสิงคโปร์ได้ดำเนินการก่อนตัดสินใจให้คาสิโนถูกกฎหมายในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2548
- ประเทศสิงคโปร์ในฐานะต้นแบบสำหรับประเทศไทย: บทเรียนและความมั่นใจ
ประสบการณ์ของประเทศสิงคโปร์แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่ชัดเจนและผ่านการพิสูจน์ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นต้นแบบที่แข็งแกร่งสำหรับประเทศไทย โดยมีบทเรียนสำคัญดังต่อไปนี้
- ระบบคุ้มครองที่ครอบคลุมและมีชั้นเชิงมีประสิทธิผล กรอบนโยบายระดับชาติด้านการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบของประเทศสิงคโปร์ไม่ได้เป็นเพียงนโยบายเดียว แต่เป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมเข้าใช้คาสิโน คำสั่งห้ามเข้าใช้บริการ การกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐ การให้ความรู้แก่สาธารณชน และการจัดบริการช่วยเหลือ อัตราการเกิดปัญหาการพนันยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล และระบบดังกล่าวได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- การเปิดรับฟังความคิดเห็นและความโปร่งใสช่วยเสริมสร้างความชอบธรรม การเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การกำหนดนโยบายอย่างโปร่งใส และความยืดหยุ่นในการปรับปรุงมาตรการตามข้อเสนอแนะและความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างความไว้วางใจและความชอบธรรมในสังคม
- ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางสังคม คาสิโนรีสอร์ตครบวงจรของประเทศสิงคโปร์สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์สิงคโปร์และตำแหน่งงานนับหมื่นตำแหน่ง ขณะเดียวกันก็มีค่าธรรมเนียมเข้าใช้คาสิโนและคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการในการจำกัดการเข้าใช้บริการของประชาชนในประเทศและกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการคุ้มครอง
- นโยบายที่อิงข้อมูลและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็น นโยบายที่มีลักษณะเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการประเมิน ผลตอบรับ และการปรับปรุง แทนที่จะเป็นการดำเนินการแบบครั้งเดียวหรือแบบคงที่เป็นสิ่งจำเป็น การเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการทบทวนนโยบายช่วยให้มาตรการยังคงมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การเกิดขึ้นของการพนันออนไลน์ นโยบายไม่สามารถกำหนดให้คงที่ตายตัวได้ ในทางกลับกัน ต้องมีการทบทวน ประเมินผล ปรับเปลี่ยน และพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบสนองต่อข้อมูลใหม่ ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อุปสรรค ความต้องการของสังคม และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
- การสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัวมีความสำคัญ การขยายบริการการให้คำปรึกษา การบำบัดฟื้นฟู และการบริการให้คำแนะนำด้านการเงิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าใช้คาสิโน ช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการพนันสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
- การจัดการกับข้อกังวลของประชาชนไทย: บทเรียนจากประสบการณ์ของประเทศสิงคโปร์
สำหรับประชาชนไทย เป็นเรื่องปกติที่จะมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการทำให้คาสิโนถูกกฎหมาย แต่ประสบการณ์ของประเทศสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า หากมีการวางแผนอย่างรอบคอบ มาตรการป้องกันที่เข้มงวด และความมุ่งมั่นในการรับผิดชอบต่อสังคม ก็สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในขณะเดียวกันก็สามารถลดผลกระทบด้านลบให้น้อยที่สุดได้ กุญแจสำคัญคือการไม่เพิกเฉยต่อการคัดค้านของประชาชน แต่ควรจัดการข้อกังวลผ่านการปรึกษาหารืออย่างโปร่งใส นโยบายที่อ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ และมีความยืดหยุ่นในการปรับปรุงมาตรการป้องกันอย่างต่อเนื่อง
การลงประชามติเกี่ยวกับการทำให้คาสิโนถูกกฎหมายอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะการตัดสินใจด้านนโยบายที่ซับซ้อน เช่น การทำให้คาสิโนถูกกฎหมาย ต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้งและการพิจารณาอย่างรอบด้านเกี่ยวกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และกฎหมาย ประชาชนทั่วไปอาจไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ครบถ้วนหรือความเชี่ยวชาญในการเข้าใจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำให้คาสิโนถูกกฎหมาย เช่น ผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น อัตราการเกิดอาชญากรรม ปัญหาการเสพติดการพนัน และการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น การลงประชามติอาจทำให้ประเด็นที่ซับซ้อนกลายเป็นเพียงคำถามแบบ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ได้รับอิทธิพลจากอารมณ์ ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ค่านิยมทางศีลธรรมส่วนบุคคล หรือผลประโยชน์ระยะสั้น แทนที่จะเป็นการประเมินผลกระทบในระยะยาวอย่างครอบคลุม
ในการอภิปรายของรัฐสภาสิงคโปร์ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2548 ดร. ยาก็อบ อิบราฮิม (Dr. Yaacob Ibrahim) (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ดูแลกิจการของชาวมุสลิม) ได้กล่าวถึงความกังวลอย่างมากของชุมชนมุสลิม (ซึ่งคิดเป็นจำนวน 15.6% ของประชากร) เกี่ยวกับการตัดสินใจของรัฐบาลในการอนุญาตให้คาสิโนเป็นส่วนหนึ่งของรีสอร์ตครบวงจร เขายืนยันว่าสำหรับชาวมุสลิมการพนันเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา อย่างไรก็ตาม เขาเน้นย้ำว่าประเทศสิงคโปร์เป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา และไม่สามารถให้การกำหนดนโยบายของรัฐบาลขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว แม้ว่ามุมมองของคนกลุ่มนั้นจะมีความตั้งใจที่ดีก็ตาม เขาได้ยกตัวอย่างเพื่ออธิบายมุมมองของเขาว่า “หากเราเลือกเดินไปในทางนั้น เราควรห้ามการทำแท้งหรือการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะมีบางกลุ่มศาสนาที่ต่อต้านสิ่งเหล่านี้หรือไม่? หรือเราควรห้ามการจำหน่ายเนื้อสัตว์เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อของกลุ่มที่เห็นว่าสัตว์ไม่ควรถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหาร?” เขาเน้นย้ำว่า ข้อบังคับทางกฎหมาย เช่น การกำหนดอายุขั้นต่ำและคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการควรถูกนำมาใช้กับคาสิโน เช่นเดียวกับข้อบังคับที่ใช้กับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อปกป้องกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบทางสังคม ดร. ยาก็อบยังได้นำเสนอให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างศีลธรรมส่วนบุคคล (สิ่งที่แต่ละบุคคลหรือแต่ละชุมชนเชื่อว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิดสำหรับตนเอง) และศีลธรรมของประชาชนหมู่มาก (ค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมกันที่เป็นรากฐานของกฎหมายและนโยบายในสังคมที่มีความหลากหลาย) และแสดงความคิดเห็นว่า การพนันที่ถูกกฎหมายในหลายรูปแบบได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในประเทศสิงคโปร์มาอย่างยาวนาน และการมีคาสิโนเพียงสองแห่งจะไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างศีลธรรมของสังคม สุดท้ายเขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ค่านิยมของเรายังคงมีบทบาทสำคัญในขณะที่ประเทศสิงคโปร์เดินหน้าต่อไป… แต่เราต้องแยกแยะระหว่างศีลธรรมส่วนบุคคลและศีลธรรมของประชาชนหมู่มาก สิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง ควรส่งเสริมผ่านการสนทนาและการให้ความรู้ ไม่ใช่การบังคับใช้”
นอกจากนี้ การลงประชามติบางครั้งอาจทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความขัดแย้งสูง เช่น การพนัน การลงประชามติอาจกระตุ้นให้เกิดการแบ่งขั้วทางความคิดและการลดทอนประเด็นซับซ้อนให้เป็นเรื่องง่าย ๆ แทนที่จะส่งเสริมการอภิปรายอย่างครบถ้วนและการสร้างฉันทามติในสังคม การกำหนดนโยบายผ่านระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนทำให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชนและสามารถเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ สามารถวิเคราะห์หลักฐาน ปรึกษาผู้มีส่วนได้เสีย และร่างกฎหมายหรือข้อบังคับที่มีความสมดุลกันระหว่างผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันเอง ด้วยเหตุนี้ กระบวนการนิติบัญญัติ (แทนที่จะใช้การลงประชามติ) จึงมีความพร้อมมากกว่าในการจัดการกับความซับซ้อนของการทำให้คาสิโนถูกกฎหมาย
เส้นทางของสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า การเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบไม่ใช่เรื่องที่ถูกมองข้าม แต่เป็นเสาหลักของการกำกับดูแลคาสิโน เมื่อมีการตัดสินใจทำให้คาสิโนถูกกฎหมาย รัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินการตามกรอบการกำกับดูแลที่รัดกุม เพื่อบริหารจัดการการเปิดตัวและการดำเนินงานของคาสิโนอย่างมีระบบ คาสิโนทั้งสองแห่งเป็นส่วนหนึ่งของคอมเพล็กซ์ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นซึ่งประกอบด้วยโรงแรม ศูนย์ประชุม สถานบันเทิง และแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ แนวทางนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากคาสิโนสามารถสร้างสมดุลกับเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานในวงกว้างแทนที่จะเป็นเพียงคาสิโนเดี่ยวเพียงลำพัง
เพื่อแก้ไขต่อข้อกังวลทางสังคม รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกำกับดูแลและมาตรการป้องกันที่เข้มงวดซึ่งรวมถึงการจัดตั้งสำนักงานกำกับดูแลคาสิโนเพื่อดูแลการดำเนินงานของคาสิโน การกำหนดค่าธรรมเนียมเข้าใช้คาสิโนสำหรับพลเมืองสิงคโปร์และผู้พำนักถาวรเพื่อลดปัญหาการพนัน และการดำเนินการของคำสั่งห้ามเข้าใช้บริการสำหรับบุคคลที่ถูกระบุว่ามีความเสี่ยงต่อการติดการพนัน นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญให้ความรู้แก่สาธารณชนและบริการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการพนันโดยทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าใช้คาสิโน
จากการเรียนรู้จากความสำเร็จและปัญหาของประเทศสิงคโปร์ ประเทศไทยสามารถออกแบบกรอบการกำกับดูแลที่สามารถปกป้องประชาชน สนับสนุนเศรษฐกิจ และสร้างความไว้วางใจให้กับสังคมได้ การเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบเป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่าง ผู้ประกอบการ รัฐบาล และชุมชน เพื่อลดผลกระทบทางสังคมให้น้อยที่สุด
บทสรุป
การทำให้คาสิโนถูกกฎหมายในประเทศสิงคโปร์เป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญและมีความขัดแย้ง แต่ได้รับการบริหารด้วยวิสัยทัศน์ ความรับผิดชอบ และความสามารถในการปรับตัว กรอบนโยบายการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบและเงื่อนไขที่เข้มงวดซึ่งบังคับใช้กับผู้ให้บริการทุกประเภททั้งในรูปแบบสถานที่จริงและรูปแบบออนไลน์ได้กลายเป็นมาตรฐานระดับสูงของหน่วยงานกำกับดูแลการพนันในภูมิภาค และอาจกล่าวได้ว่าในระดับโลกยึดถือเป็นแบบอย่าง แม้ว่าจะไม่มีระบบใดสมบูรณ์แบบ แต่ประเทศสิงคโปร์ได้แสดงให้เห็นว่าการทำให้คาสิโนถูกกฎหมายไม่จำเป็นต้องส่งผลเสียต่อสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม หากมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสมและได้รับการบังคับใช้ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มาตรการเหล่านั้นพัฒนาไปตามกาลเวลาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไป
สำหรับประเทศไทย สิ่งที่ชัดเจนคือ การพัฒนาเศรษฐกิจและความรับผิดชอบทางสังคมไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน หากมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม การบังคับใช้ที่เข้มงวด ธรรมาภิบาลที่โปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการให้ความรู้และการปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยสามารถสร้างเส้นทางที่นำไปสู่เศรษฐกิจที่มั่นคงโดยไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของสังคมไทย หากประเทศไทยตัดสินใจให้สถานบันเทิงแบบครบวงจรซึ่งรวมถึงคาสิโนถูกกฎหมาย สิ่งสำคัญคือต้องมุ่งเน้นการลดผลกระทบทางสังคมให้เหลือน้อยที่สุดและเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด ประเทศไทยมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการกำหนดแนวทางของตนเองให้มั่นใจว่าการตัดสินใจทำให้คาสิโนถูกกฎหมายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง